|
คำถามที่ว่า “ลูกดิฉันที่เป็นโรคหอบนี่ โตแล้วจะหายไหมคะ?” เป็นคำถามที่หมอนิตต้องตอบทุกวัน คำตอบนั้นแสนจะยาว จะตอบให้สั้นก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่เข้าใจให้ละเอียด
เดี๋ยวกลับบ้านไป จะกลุ้มอกกลุ้มใจกันใหญ่
หัวอกคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกหอบเป็นอย่างไร หมอนิตรู้ซึ้ง เพราะหนูหนึ่งลูกสาว ตอนเล็กๆ เธอก็หอบเหมือนกัน คำถามทั้งหลายที่อยู่ในใจคุณพ่อคุณแม่ หมอนิตจึงรู้ดี รู้อีกด้วยว่า ความไม่รู้แจ้งกระจ่างนั้น ทำความกลุ้มอกกลุ้มใจแก่พ่อแม่ บางครั้งอาจกลุ้มมากยิ่งกว่า รู้ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลยเสียอีก
เด็กหอบนั้น เกิดได้จากโรคหลายชนิด แต่ที่จะเกี่ยวข้องกับหมอโรคภูมิแพ้ก็คือ พวกโรคหอบหืด ในเด็กเล็กเราจะยังไม่เรียกว่า “หอบหืด” อย่างเต็มปากเต็มคำแบบในผู้ใหญ่ แต่เราจะเรียกว่า Bronchial hyperresponsiveness แทน ชื่อจริงมันยาวนัก เลยมีชื่อเล่น เรียกกันง่ายๆว่า BHR แปลเป็นไทยได้ว่า “โรคของทางเดินหายใจที่มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากไป” ดังนั้นเมื่อมี สิ่งกระตุ้น ต่างๆ มากระตุ้น หลอดลมจะหดตัวง่ายกว่า, ไวกว่าเด็กปกติ พอหลอดลมมันหดตัว อากาศก็ผ่านเข้าออกลำบาก เพราะต้องวิ่งผ่านรู ไหลผ่านท่อที่แคบลงกว่าเดิม เด็กต้องพยายามออกแรงช่วยหายใจ ผลักดันให้อากาศเข้าปอดไปจนได้ เป็นสัญชาตญาณ การเอาชีวิตรอดอย่างหนึ่งของมนุษย์ ถึงแม้จะตัวเล็กๆ ไม่รู้เรื่องไม่รู้ราวอะไรก็ตาม
ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตดูจากภายนอกจะเห็นว่า ลูกหายใจยาก หายใจเหนื่อยๆ ถ้าเป็นมากก็เหมือนที่เขาเรียกว่า หอบจนซี่โครงบาน นั่นแหละค่ะ ถ้าลองนับจำนวนครั้งที่เด็กหายใจในหนึ่งนาที จะพบว่า เพิ่มสูงขึ้นกว่าตอนสบายดี เด็กเล็กหลายรายมีแต่อาการไออย่างเดียว แต่ไอนั้นเรื้อรัง ไปหาหมอ ได้ยากินขยายหลอดลม…หายไอ หมดยาก็ไออีก หลายๆราย ไอเรื้อรังกันเป็นเดือน เป็นไม่หนัก แต่ก็ไม่หายสักที
ถ้าหมอเอาหูฟัง ฟังที่ปอดเด็ก จะได้ยินเสียงวี๊ดๆ เป็นเสียงของลมหายใจที่ผ่านท่อหลอดลมที่แคบลง คล้ายๆเสียงผิวปาก หรือเป่าปี่ เป่าขลุ่ย
เขียนไว้ว่าหลอดลมจะหดตัวเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสงสัยอีกแน่นอนว่า อะไรล่ะคือเจ้าสิ่งกระตุ้นที่ว่า
สิ่งที่กระตุ้นให้หลอดลมหดตัวได้ เช่น อากาศเย็น เชื้อโรค เชื้อไวรัส เชื้อโรคหวัดบางชนิด การออกกำลังกายจนเหนื่อย มลพิษในอากาศ เขม่าควัน ควันบุหรี่ และที่สำคัญในรายที่เป็นภูมิแพ้ ก็คือสารชนิดที่เด็กคนนั้นแพ้ ซึ่งแต่ละคนจะแพ้สารต่างๆกันไป อาจเป็นตัวไรฝุ่น แมลงสาบ ขนแมว ขนสุนัข ละอองเกสรหญ้า ละอองเกสรวัชพืช ละอองเกสรดอกไม้ สปอร์ของเชื้อรา หรืออาหารบางชนิด
เอาละ ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่พอเข้าใจคร่าวๆแล้วมังคะ ว่าเวลาลูกหอบ มันเกิดอะไรขึ้นในทางเดินหายใจของเขา รู้แล้วว่าอะไรทำให้อาการหอบของลูกกำเริบ ได้บ้าง
คุณแม่บางคนสงสัยต่อไปว่า แล้วทำไมต้องตั้งชื่อโรคให้ประหลาด ยาว จำยาก ทำไมต้องเรียก Bronchial hyperresponsiveness ทำไมไม่เรียกว่าโรคหอบหืด อย่างผู้ใหญ่ไปเลย ฟังคุ้นหูดีออก
ก็เพราะว่า มันไม่ใช่โรคเดียวกันเสียทีเดียวนะซิ อ่านแล้วงงไหมคะ มันเกี่ยวข้องกันนิดหน่อย แต่ไม่เหมือนกัน
แปลว่าอะไร ?
แปลว่า มีเด็กที่เป็น BHRจำนวนหนึ่ง จำนวนมากพอควรเสียด้วย ที่โตขึ้นแล้วหายหอบ เลิกหอบ จบกันไป ไม่ต่อเนื่องเป็นหอบหืด บางครั้งเราเลยไม่อยากเรียกว่าหอบหืดอย่างเต็มปากเต็มคำ
คำถามใหม่มาทันที “แล้วลูกหนูคนนี้ จะหายหอบด้วยไหมคะ?”
ใครๆ ก็อยากให้ลูกตัวเองหายหอบทั้งนั้นค่ะ
แต่คำตอบของคำถามนี้ ไม่ง่าย ไม่สั้น อย่างที่พ่อแม่อยากจะให้หมอตอบว่า คนนี้หายแน่ หรือ ไม่หายแน่ๆ เอากันให้เด็ดขาดเป็นรายๆ ไป แบบนั้นไม่มีหมอคนไหนทำได้ ส่วนมากหมอเขาจะใช้คำว่า “มีโอกาส” เหมือนซื้อลอตเตอร์รี่ ก็มีโอกาสทั้งถูกรางวัล และถูกกิน
แต่จากการศึกษา ค้นคว้า รายงานทางการแพทย์ มีคำตอบให้ทราบว่า
ถ้าเด็กหอบเฉพาะตอนเป็นหวัด หรือ ตอนออกกำลังกายเหนื่อย เท่านั้น พวกนี้แนวโน้มดี โอกาสหายสูง
แต่รายที่ขยันหอบ อะไรนิดอะไรหน่อยก็หอบ , หอบทีหอบนาน, หอบรุนแรง , หอบได้หอบดีแม้ไม่ได้เป็นหวัด พวกนี้อนาคตไม่ค่อยดี โอกาสหายต่ำ
รายที่เด็กเป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้อยู่ด้วย เช่น มีผื่นผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ , จมูกอักเสบจากภูมิแพ้, แพ้อาหาร เด็กพวกนี้มักจะหอบต่อไปนานหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีว่าส่วนใหญ่อาการหอบมักจะสงบได้ ก่อนเข้าสู่วัยรุ่นค่ะ
ประวัติโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้ของคนในครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย ก็สำคัญ ถ้ามีประวัติ เด็กจะมีโอกาสหอบต่อไปอีก นานกว่าเด็กที่เขาไม่มีใครในตระกูลเป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้
การรักษาโรคให้ถูกทาง เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากต่ออนาคตของโรค เหมือนการเลี้ยงลูกให้ถูกทาง
ในเด็กที่หอบน้อยๆ นานๆครั้ง, หอบไม่รุนแรง ใช้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่น หรือชนิดกินแทนถ้าเด็กพ่นไม่เป็น หรือไม่สะดวก โดยใช้เป็นครั้งคราว เฉพาะเวลามีอาการก็พอ
แต่ในรายที่หอบบ่อย, เป็นนาน, เป็นรุนแรง พวกนี้จะใช้แต่ยาขยายหลอดลมเท่านั้นไม่พอแน่ เพราะอาจจะทำให้โอกาสที่เด็กโตขึ้นแล้วกลายเป็นโรคหอบหืดสูง ต้องใช้ยาลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในเยื่อบุทางเดินหายใจร่วมไปด้วย จะทำให้โรคสงบได้ดีกว่า และเป็นการป้องกันการกำเริบในครั้งต่อไปได้ด้วย ทำให้ไม่ต้องหอบกันบ่อยๆ ลูกหอบ คุณพ่อคุณแม่ก็หอบด้วย เพราะต้องหอบหิ้วกันมาหาหมอ อย่างกระหืดกระหอบ นอกจากนี้การใช้ยาลดการอักเสบในเด็กกลุ่มนี้ยังเกิดผลดีในระยะยาว คือพบว่าทำให้เด็กเป็นโรคหอบหืดลดลง
ยาลดการอักเสบที่ว่านี้ เป็นยาคนละตัว คนละประเภท กับยาแก้อักเสบที่เป็นยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อโรค ที่คุณพ่อคุณแม่รู้จักดี
ยาลดการอักเสบส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของยาพ่น เพราะให้ความปลอดภัยต่อเด็กสูงกว่ายากิน เนื่องจากปริมาณยาที่ใช้พ่นน้อยกว่ายาที่กิน, แล้วยังเข้าถึงหลอดลมได้เลย ไม่ต้องไปวนผ่านกระแสเลือดมาก่อน ยาพวกนี้มีมากมายหลายยี่ห้อ หน้าตาต่างๆกัน
ถ้าลูกคุณได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม เหมาะกับความรุนแรงของโรคที่เขาเป็น โอกาสหายหอบจะสูง แต่ถ้ารักษาไม่พอดีกับโรค รักษาน้อยกว่าที่ควร โอกาสเป็นหอบหืดจะสูงแทน
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาหลายๆรายงาน โดยเฉลี่ยพบว่า 30 - 70% ของเด็กที่หอบ อาการจะหมดไป เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
โดยส่วนมากอาการจะลดลงตั้งแต่อายุประมาณ 6 ขวบ เพราะหลอดลมมีขนาดโตขึ้น ใหญ่ขึ้น ถึงจะหดบ้างบางที ก็จะยังไม่หอบ หรือหอบไม่รุนแรง
มีการศึกษาในประเทศอังกฤษรายงานหนึ่ง เขาติดตามเด็กที่หอบจำนวน 2,345 คน พบว่าเมื่อครบอายุ 10 ปี เลิกหอบไปแล้วถึง 80 % เหลือเพียง 20 % เท่านั้นที่ยังหอบ
รู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อ คุณแม่ คงพอจะบอกแนวโน้มของลูกตัวเองได้คร่าวๆ ว่าอนาคตน่าจะเป็นหอบหืด หรือน่าจะหายหอบ โดยดูจากการเป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้ของตัวเด็กเอง และครอบครัว, ดูจากความรุนแรง, ความถี่ห่างที่เด็กหอบ, หอบเฉพาะตอนเป็นหวัด, หรืออยู่ดีๆก็หอบได้, หอบแต่ละคราวนั้นหายง่ายหรือหายยาก
สิ่งที่สำคัญที่คุณพ่อ คุณแม่ จะช่วยลูกได้ ช่วยให้ลูกมีโอกาสหายหอบเพิ่มมากขึ้น คือดูแลรักษาเขาให้เหมาะสมกับโรคที่เขาเป็น อย่าปล่อยให้ลูกหอบแล้วหอบอีก โดยไม่ได้รักษา และป้องกัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่เล่ามาแล้วนั่น รวมทั้งการใช้ยาลดการอักเสบ ,ยาป้องกันโรคกำเริบอย่างเหมาะสมด้วย
ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว แต่คุณพ่อ คุณแม่ ยังสูบบุหรี่กันปุ๋ยๆ ให้ลูกสูดควันบุหรี่เข้าไปทุกวัน ก็อย่ามาถามกันเลยนะคะ ว่า “ลูกผม… จะหายหอบไหมครับ?”
|
|