เมื่อวานนี้ หมอนิตตรวจคนไข้คนหนึ่ง เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี บุคลิกดี การศึกษา อาชีพ ของเธอดีหมด เรียกว่าเป็นคนรุ่นใหม่นั่นแหละ มาหาหมอนิตเพราะเป็นหอบหืดมานานหลายปี ไปหาหมอมาแล้วหลายคลินิก หลายโรงพยาบาล โดนมาทั้งยาฉีด ยากิน และยาพ่น
หมอนิตถามว่า “แล้วเป็นไงบ้างคะ ควบคุมอาการได้ไหม?”
คุณชายหนุ่มบอก “ถ้าพ่นยา ก็ดีอยู่ครับ”
“ หมอที่เคยรักษา บอกให้พ่นยาเป็นประจำหรือเปล่าคะ? ”
“ บอกครับ แต่ผมไม่ได้ทำ”
“ อ้าว ” (ไหงงั้น!! หมอนิตนึกในใจ )
“ เพื่อนผมบอกว่า อย่าพ่นบ่อย มันอันตราย ผมเลยไม่ กล้าพ่น”
เรื่องทำนองนี้หมอนิตเจอบ่อยๆ คุณหมอบอกอะไรคนไข้มักจะไม่ค่อยเชื่อ หรือเชื่อแต่ก็ไม่ค่อยทำตาม แล้วที่น่าเจ็บใจ คือ ถ้าคนอื่นบอก คนไข้มักจะเชื่อมากกว่าหมอบอกทุกที
ต่างจังหวัด ตามบ้านนอก ยิ่งร้ายใหญ่ คนไข้ไปหาหมอโรงพยาบาล คุณหมออธิบายจนคอโป่ง คุณตา คุณยายทั้งหลาย มักไม่ทำตามหรอก แต่เวลาหมอเถื่อนพูดอะไร หลอกให้กินยาหม้อ, ยาต้ม หม้อละเป็นพัน, เป็นหมื่น ทำไมเชื่อเขานักก็ไม่รู้
หมอนิตเดาเอาว่า คงเป็นเพราะหมอส่วนใหญ่ไม่ค่อยสื่อสารกับคนไข้ เวลาก็มีน้อย คนไข้ยังมีรอข้างนอกห้องตรวจอีกเป็นหางว่าว ฟังประวัติ ตรวจร่างกาย จ่ายยาไปให้ เป็นอันจบ เรียกรายต่อไปได้เลย ขืนมาพูดมาก คุยนาน คนที่รอข้างนอก คงจะสรรเสริญเยินยอกันให้ขรม
อีกเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ นิสัยของคนที่เป็นหมอส่วนใหญ่ จะเป็นคนคงแก่เรียน ที่เรียกให้โก้ว่า “นักวิชาการ” ซึ่งมักชอบอ่าน ชอบเรียน ชอบค้นคว้า ไม่ค่อยชอบพูด
หมอที่ชอบพูดก็มีเหมือนกัน แต่ท่านผันตัวไปเล่นการเมืองแทนการหมอ ได้รับความนิยมจากประชาชนในหลายรูปแบบ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง อ่านหนังสือพิมพ์วันนี้ คุณหมอขยันพูด ขยันยกมือ ได้ดิบได้ดี เป็นรัฐมนตรีไปแล้ว
แหม ว่าจะไม่แขวะการเมืองแล้วเชียวนา
เข้าเรื่องยาพ่นกันต่อดีกว่า
ยาพ่น นี่เป็นของค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย อย่างน้อยๆก็มาตามหลังยาฉีด ยากิน
แต่จริงๆแล้ว ที่ต่างประเทศมียาพ่นใช้กันมานานยี่สิบกว่าปีแล้ว คนไข้เมืองนอกเห็นการพ่นยาเป็นเรื่องปกติสำหรับโรคหอบหืด คนไข้โรคหอบหืดจะมียาพ่นพกติดตัวไว้เสมอ ถ้าเป็นมาก ยาพ่นเอาโรคไม่อยู่ ถึงจะต้องกินยาเม็ด หรือฉีดยากัน
ของไทยเราไม่งั้น ถ้าให้กินยา หรือแม้แต่ฉีดยา ดูเหมือนจะพูดกันง่ายกว่าให้พ่นยา
มีครอบครัวหนึ่งพาลูกมาหาหมอนิต เพราะไอ หอบ เป็นๆหายๆ มานานนับปี หนูน้อยไม่เคยมีสุขภาพดีได้เกิน 2 สัปดาห์ สรุปได้ว่าเป็นโรคหืด หมอนิตเห็นว่าขืนปล่อยไปเรื่อยๆแบบนี้ เห็นทีแย่แน่ ถ้าเราวิ่งไล่กวดโรคอยู่แบบนี้ รอให้เป็นก่อนแล้วค่อยรักษา ก็คงต้องเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก สู้เราวิ่งไปดักไว้ข้างหน้า ป้องกันเอาไว้เลย อย่าให้เป็นอีกบ่อยๆ ดูจะดีกว่า จึงตัดสินใจให้ยาพ่นเพื่อไปป้องกันโรค อธิบายจนคุณพ่อ คุณแม่เข้าใจดี อธิบายแม่หนูน้อยด้วย ว่าหนูต้องทำยังไงบ้างเวลาสูดยา ให้เด็กคุ้นเคย สนุกสนาน จะได้รู้ว่าพ่นยานั้นไม่น่ากลัว
สองสามวันต่อมา ทีนี้มาใหม่ มากันขบวนใหญ่ ทั้งบ้านเลย เปล่า..โรคไม่ได้กำเริบ ปัญหาใหม่อยู่ที่คุณยาย คุณยายซึ่งเป็นผู้ดูแลหลานตอนกลางวัน ช่วงที่คุณพ่อ คุณแม่ ไปทำงาน ไม่ยอมพ่นยาตอนเที่ยงให้หลาน กลัวว่าจะเป็นอันตราย ยาจะแรงเกินไป คุณพ่อ คุณแม่พูดเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง ถึงฟังก็ไม่เชื่อ
“ฉัน เกิดก่อนเธอ ก็ต้องรู้ดีกว่าเธอซิ”
เข้าทำนองอาบน้ำร้อนมาก่อน ตามสุภาษิตไทย
คุณพ่อ คุณแม่ หมดปัญญา เลยบอกว่า “งั้นมาหาหมอแล้วกัน”
หมอนิตเลยต้องมาอธิบายให้คุณยายฟัง ว่ายาพ่นนั้นมีข้อดีกว่ายากิน, ยาฉีด คือ
ข้อหนึ่ง ยาพ่นสามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดโรคได้โดยตรง ถ้าใช้ยากิน ยาต้องเข้ากระเพาะ, ลำไส้ ดูดซึมผ่านกระแสเลือด ไปทั่วทั้งตัวก่อน จึงจะมาถึงทางเดินหายใจ เรียกว่าอ้อมรอบโลกก่อน ดังนั้นเมื่อเรามีทางเลือก ก็น่าจะเลือกทางตรงดีกว่าทางอ้อม
ข้อสอง ยาพ่นออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายากิน เพราะยาไปถึงบริเวณเกิดโรคได้เร็ว ออกฤทธิ์เร็ว อาการก็ดีขึ้นเร็ว ไม่ต้องทนทรมานนาน, ฤทธิ์ยายังดีกว่า อยู่ได้นานกว่าอีกต่างหาก
ข้อสาม ยาพ่นจะมีฤทธิ์ข้างเคียง (ที่เป็นข้อเสีย) ของตัวยาน้อยกว่ายาชนิดกิน เพราะในการพ่นยา เราใช้ปริมาณยาพ่นน้อยนิดเดียวก็ได้ผลแล้ว เพราะอย่างที่บอก ว่าการพ่นทำให้เราสามารถส่งยาได้ตรงถึงที่หมาย ไม่เหมือนยากินที่ต้องใช้ยาปริมาณเนื้อยามากกว่า แบบขี่ช้างจับตั๊กแตน ยาที่เข้าไปมากกว่านี้เอง ทำให้ฤทธิ์ข้างเคียงที่เราไม่ต้องการเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น เรื่องผลข้างเคียงที่ไม่ดีของยาพ่นจึงน้อยว่ายากินมาก ขอเน้นว่า น้อยมากๆๆๆ
แล้วยาส่วนใหญ่ที่พ่นน่ะ จะติดอยู่ที่ตามปาก ตามคอ นี่แหละ ส่วนที่ลงปอด ลงหลอดลม ไปรักษาโรคมีแค่ 10 กว่า% เท่านั้น ซึ่งเจ้า 10กว่า% นี่ ก็ให้ผลการรักษาที่น่าพอใจแล้ว ถ้าคุณยายยังกลัวยาพ่นอีก ก็จงให้หลานบ้วนปากเสีย ยาที่ติดอยู่จะได้ไม่ถูกดูดซึมเข้าไป เพราะยังไงยาส่วนที่ติดปาก ติดคอนี่ เราก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์มันอยู่แล้ว ล้างออกเสียได้ยิ่งดี
หมอนิตยกตัวอย่าง ยาที่คนไข้และหมอกลัวที่สุด คือ สเตียรอยด์ ซึ่งมักถูกใช้ถ้าอาการของโรครุนแรง หมอเขาจะให้ยาตามน้ำหนักเด็ก สมมติ หนูน้อยหนัก 20 กิโล จะต้องกินยาสเตียรอยด์ วันละ 20 มิลลิกรัม ซึ่งมีค่าเท่ากับ 20,000 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ถ้าใช้ยาพ่น เอ้า สมมติใช้สเตียรอยด์เหมือนกันด้วย จะใช้ยาอย่างมากไม่เกิน 200-400 ไมโครกรัมต่อวัน แล้วยาพ่นที่ใช้เรายังรู้ว่า มันติดอยู่ที่ปากและคอเป็นส่วนใหญ่ ให้เราล้างออกได้อีก เข้าตัวไปจริงๆ แค่ 10 กว่า% อย่างที่บอก ก็จะเหลือแค่ 20-40 ไมโครกรัมเท่านั้น น้อยกว่ายากินตั้ง 500 เท่า , 1000 เท่า ดังนั้นโอกาสจะเกิดกระดูกผุ หรือกดต่อมหมวกไตอย่างที่กลัวกันจึงไม่มี ถ้าใช้ยาพ่นในปริมาณที่ไม่เกินแพทย์สั่งนะ
เขารู้อย่างนี้แล้ว รู้ว่ามันปลอดภัย จึงเอามารักษาโรคได้ ดีกว่าปล่อยให้โรคเป็นไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุด ประสิทธิภาพการทำงานของปอดอาจเสียไป จนแก้ให้กลับสู่ปรกติไม่ได้
ยาพ่นนี้ บางตัวยังเอามาเป็นยาป้องกันหอบ ไม่ให้ต้องป่วยกันบ่อยๆ ไม่ต้องขาดเรียน ขาดโอกาสทำกิจกรรมต่างๆที่เด็กควรจะได้ทำ ผู้ปกครองก็ไม่ต้องขาดงาน มาเฝ้าลูกป่วย เสียเวลา เสียเงินอีกต่างหาก
ข้อสำคัญที่สุด ต้องรู้จักยาให้ดี เพราะยาพ่นมีหลายชนิด หลายประเภท หลายรูปแบบ หลายความแรง ต้องรู้ว่าตัวไหนใช้อย่างไร ใช้เท่าไร และใช้เมื่อไหร่
เรื่องใช้เมื่อไหร่นี่ต้องรู้ให้แน่ใจ อย่าสับสน
ยาบางอย่าง ใช้เฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น ไม่มีอาการไม่ต้องใช้ เพราะเป็นเพียงยาขยายหลอดลม แบบนี้ก็อย่าได้ใช้ตลอดทุกวันเข้าเชียว
ยาบางอย่าง ใช้ก่อนไปออกกำลังกาย หรือใช้เช้าวันที่มีวิชาพละที่โรงเรียน จะทำให้เด็กไม่เหนื่อย ไม่หอบ ออกกำลังกายได้เหมือนเพื่อนฝูง ไม่ต้องนั่งตาละห้อยดูเขาอยู่ข้างสนาม
ยาบางอย่างต้องใช้ทุกวันจึงจะเกิดผล พวกนี้มักเป็นยาจำพวกป้องกันโรค, ยารักษาการอักเสบที่เกิดขึ้นในทางเดินหายใจ เป็นการอักเสบที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อโรค แล้วยังใช้ลดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ทำให้หอบยากขึ้น อาการของโรคจะลดลง ลดลงไปเรื่อยๆ บางรายหายได้ในที่สุด แต่ยาพ่นพวกนี้ต้องใช้ประจำทุกวัน จะมีอาการหอบหรือไม่มีอาการหอบก็ต้องใช้ เพราะเรารู้แล้วว่ามันปลอดภัย หมอจะสั่งปรับยาเอง ถ้าอาการดีขึ้น หมอก็จะลดยาลงเรื่อยๆ
ในที่สุดคุณยายก็เข้าใจ ยินยอมไปพ่นยาให้หลานแต่โดยดี
คุณชายหนุ่มนั่นก็เข้าใจ ทีนี้ใช้ยาถูกต้องเสียที
หมอนิตก็สบายใจ คนไข้อาการดีขึ้นเรื่อยๆ
คราวต่อๆไป หมอนิตจะได้ไม่ต้องพูดมากอีก
ยอมเหนื่อยครั้งเดียว … คุ้มค่ะ
|