หน้าหลัก

     โรคภูมิแพ้

     หนังสือ     ผลิตภัณฑ์       แพทย์       แผนที่ Link

   www . allergyasthmathailand . com    
       
 

             

   
 

        

 
 

               โรคภูมิแพ้ในคุณแม่ตั้งครรภ์

 
 

      

 
 

               สิ่งที่หมอนิตพบอยู่เสมอในคนไข้ภูมิแพ้ไทย โดยเฉพาะคนไข้โรคหอบหืด และจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ คือเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ คนไข้จะหยุดยาเอง งดใช้ยาทุกอย่างที่เคยใช้อยู่ เนื่องจากกลัวว่ายาจะส่งผลร้ายต่อเด็กซึ่งมองแง่หนึ่งก็ดูเหมือนจะดี ที่คุณแม่พยายามจะปกป้องลูกน้อยในครรภ์ให้ปลอดภัย


               แต่ปัญหาที่ตามมาในผู้ป่วยหลายๆราย คือโรคเก่ากำเริบขึ้น คุณแม่อาจนึกไม่ถึงว่าโรคที่กำเริบขึ้นนี้อาจส่งผลร้ายต่อทารกในครรภ์ได้เช่นกัน แถมทารกยังอาจได้รับผลร้ายจากยาที่จำเป็นต้องใช้รักษาคุณแม่ตอนอาการกำเริบ ซึ่งย่อมแรงกว่ายาที่ใช้เมื่ออาการสงบแน่นอนค่ะ


               หมอนิตพบว่าสิ่งที่เราขาดกันอย่างยิ่งคือ “ความรู้ ความเข้าใจ “ คนไข้มักไม่ค่อยกล้าถามหมอ ยิ่งถ้าไปเจอคุณหมอไม่ช่างพูดเข้าด้วย จบกันเลย อย่างนี้คนไข้คงหยุดยาเองแน่นอน แต่ถ้าเราได้คุยกันสักหน่อย คนไข้แจ้งให้คุณหมอทราบว่า หนูท้องแล้วนะคะ ปรึกษากันว่า เราจะดูแลกันต่อไปอย่างไรดี เปลี่ยนยาให้อ่อนลง จนเหลือเท่าที่จำเป็น เลือกยาที่ปลอดภัยต่อทั้งแม่และลูกจะดีไหม และจะต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง หากทำได้อย่างนี้ก็จะสบายกาย สบายใจไปจนคลอดเลยค่ะ


               ผลกระทบระหว่างการตั้งครรภ์กับโรคภูมิแพ้ ที่มีการศึกษากันมากทำในโรคหอบหืด มีสิ่งที่ควรทราบดังนี้ค่ะ

 
 

        

 
 

               ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์

 
 

               มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว, ปริมาณน้ำในร่างกาย, ปริมาณเลือด, เกลือโซเดียม ทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้น


               ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ จะพบว่ามีการหายใจลำบากในช่วงเวลานอนได้สูงถึง 75%โดยไม่พบว่ามีอาการไอ หรือหอบร่วมด้วย


               ในระยะท้ายๆของการตั้งครรภ์จะพบว่าปริมาตรของอากาศที่เหลือค้างอยู่ในปอดหลังจากหายใจออกตามปกติลดลง ทำให้ปอดบางบริเวณไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้สมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้อาการของโรคหอบหืดเลวลง


               นอกจากนี้ร่างกายยังมีการสร้างสารต่างๆที่อาจมีผลต่อการหดหรือขยายตัวของหลอดลมเช่น สารที่สร้างจากรก อาจทำให้โรคหอบหืดมีอาการกำเริบขึ้น


               ร่างกายจะสร้างสารสเตียรอยด์บางอย่างเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนสุดท้ายและในตอนคลอด ซึ่งอาจทำให้โรคหอบหืดดีขึ้น แต่ก็พบว่าอวัยวะต่างๆอาจตอบสนองต่อสเตียรอยด์ดังกล่าวน้อยลงด้วย

 
 

        

 
 

               ลกระทบของการตั้งครรภ์ต่อโรคหอบหืด

 
 

               เมื่อผู้ป่วยหอบหืดตั้งครรภ์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของโรคไปได้ 3 แบบ คือ 1ใน 3 ของผู้ป่วยอาการคงเดิม ,1ใน 3 อาการทุเลาลง, และอีก 1ใน 3 อาการกำเริบมากขึ้น ซึ่งส่วนมากมักมีอาการกำเริบในช่วงสัปดาห์ที่ 29 –36 ของการตั้งครรภ์


               ส่วนใหญ่ผู้ป่วยหอบหืดมักมีอาการมักดีขึ้นในช่ว

งสัปดาห์ที่ 36-40 และรวมถึงระหว่างการคลอดด้วยค่ะ มีคนไข้ไม่ถึง 10 % เท่านั้น ที่โรคหอบหืดกำเริบระหว่างคลอด
               หลังคลอดแล้วประมาณ 3 เดือน 75%ของผู้ป่วยจะกลับมีอาการแบบเดิมเหมือนก่อนตั้งครรภ์


               ส่วนการตั้งครรภ์ครั้งหลัง 75%ของผู้ป่วยจะมีลักษณะการดำเนินโรคของหอบหืดระหว่างตั้งครรภ์คล้ายคลึงกับการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆค่ะ

 
 

        

 
 

               ผลกระทบของโรคหอบหืดต่อเด็กในครรภ์

 
 

               ถ้าเราปล่อยให้โรคหอบหืดกำเริบ ไม่ได้ควบคุม ขณะที่โรคกำเริบออกซิเจนในเลือดแม่จะลดต่ำลง ซึ่งเสือดของแม่จะผ่านรกไปสู่ลูก ทำให้ลูกได้รับออกซิเจนน้อยลงตามไปด้วย ถ้ากำเริบบ่อยๆ นานเข้า เด็กก็อาจตัวเล็ก น้ำหนักน้อย คลอดก่อนกำหนด หรือตายคลอดได้ ซึ่งสูติแพทย์สามารถตรวจเช็คความผิดปกติของเด็กในครรภ์นี้ได้ ด้วยการทำ ultrasound, non-stress test, contraction stress test ทั้งนี้แล้วแต่ดุลยพินิจของสูติแพทย์ค่ะ


               เราพบว่า ในคุณแม่ที่ควบคุมโรคหอบหืดได้ไม่ดี เช่น วัดสมรรถภาพการทำงานของปอดได้ต่ำกว่า 90% จะมีโอกาสได้ลูกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ และ/หรือเป็นเด็กที่มีการเจริญเติบโตช้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มากกว่าคุณแม่ที่มีสมรรถภาพการทำงานของปอดสูงกว่า 90% ถึง 2.5 เท่าค่ะ
               ส่วนคุณแม่ที่แพทย์สามารถควบคุมโรคไว้ได้ดี จะพบอัตราการตายของทารกต่ำ, เด็กจะมีน้ำหนักตัวปกติ แข็งแรงได้เหมือนเด็กทั่วไปค่ะ

 
 

        

 
 

               ยา

 
 

               ยาทางสูตินรีเวชบางตัวอาจมีผลต่อโรคหอบหืด เช่นยาที่ทำให้มดลูกหดตัวบางชนิด ที่อาจนำมาใช้รักษาอาการตกเลือดหลังคลอด อาจทำให้หลอดลมหดตัว เป็นผลให้หอบหืดกำเริบ


               แต่ยาบางอย่างก็อาจทำให้โรคหอบหืดมีอาการดีขึ้น เช่น ยาที่ลดการหดตัวของมดลูกบางชนิด


               ส่วนยาของโรคหอบหืดแต่ละชนิดมีผลต่อแม่และลูกดังนี้ค่ะ


               Theophyllines ยาตัวนี้ผ่านรกไปยังเด็กในครรภ์ได้ ถ้าเด็กได้รับในปริมาณสูงอาจเกิดโทษ โดยทำให้เด็กมีอาการกระตุก อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว และอาจหยุดหายใจได้ ถ้าหากจะใช้ยาตัวนี้ระหว่างตั้งครรภ์ควรเจาะเลือดคุณแม่ เพื่อวัดระดับยาไม่ให้สูงเกินจนเกิดโทษดังกล่าวค่ะ ที่น่าเป็นห่วงในเมืองไทยคือ ยากลุ่มนี้ขายกันเกร่อตามร้านขายยา เพราะเป็นยากิน กินวันละ1 –2 ครั้ง สะดวกสบาย คนไข้หอบหืดมักชอบซื้อหามากินเอง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ค่ะ


               Adrenaline (epinephrine) ที่เอามาใช้ฉีดตอนหอบกำเริบมากๆ นั่นก็ผ่านรกเหมือนกัน แต่ไม่พบว่ามีผลต่อเด็กค่ะ
               ยาสูดพ่นกลุ่มขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น มีมากมายหลายยี่ห้อ ต่างประเทศใช้กันแพร่หลายมานานแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ได้ระหว่างตั้งครรภ์ เพราะเรายังไม่พบความผิดปกติของทารกจากการใช้ยาค่ะ


               ยากินกลุ่ม leukotriene antagonist ที่มีขายในเมืองไทย คือ montelukast ยังไม่มีรายงานการศึกษาในหญิงมีครรภ์ ถ้าไม่จำเป็นก็ยังไม่ควรใช้ค่ะ


               ยาสเตียรอยด์ หากได้รับโดยการรับประทานจะสามารถผ่านรกได้เล็กน้อย โดยเด็กจะได้รับยาประมาณ10–13%ของยาที่แม่ได้รับ แต่จากการศึกษาในเด็กที่เกิดจากแม่ที่ได้รับprednisolone ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ชนิดหนึ่งระหว่างตั้งครรภ์ ไม่พบว่าเด็กมีความผิดปกติ


               ส่วนยาสเตียรอยด์ขนิดสูดพ่น ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคหอบหืด ก็ยังไม่พบว่าทำให้เด็กมีความพิการแต่กำเนิดจากยา ยาหลายตัวจึงสามารถใช้ได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ค่ะ

 
 

        

 
 

               โรคภูมิแพ้อื่นๆกับการตั้งครรภ์

 
 

               โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ( Allergic rhinitis) พบว่าผู้ป่วย 34% มีอาการแย่ลง, 15% อาการดีขึ้น, 45% อาการคงเดิม และพบว่า 5%ของหญิงมีครรภ์มีอาการไซนัสอักเสบ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าคนทั่วไปถึง 6 เท่า การรักษาภูมิแพ้ในคนไข้กลุ่มนี้เราสามารถใช้ยาแก้แพ้บางตัวได้ เช่น chlorpheniramine , tripelennamine ยาพ่นจมูกกลุ่ม cromolyn sodium สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย แม้แต่ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์บางตัวก็สามารถใช้ได้เช่นกัน การควบคุมสิ่งแวดล้อมให้มีสารก่อภูมิแพ้ให้น้อยที่สุดเป็นเรื่องจำเป็น การออกกำลังกาย การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยบรรเทาอาการลงได้บ้าง ส่วนในผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนภูมิแพ้(Immunotherapy)มาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ไม่ต้องหยุดฉีดค่ะ เพราะวัคซีนไม่มีผลใดๆต่อเด็ก
               ผื่นลมพิษ บางรายอาจมีอาการกำเริบขึ้นได้ สามารถรับประทานยาแก้แพ้บางตัว เช่น chlorpheniramine , tripelennamine บรรเทาอาการได้เท่าที่จำเป็น
               แองจิโออีดีมา (Angioedema) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอาการสงบระหว่างตั้งครรภ์ สามารถคลอดตามปกติได้ แต่หากมีความจำเป็นต้องผ่าคลอด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัวนี้ เพราะต้องมีการเตรียมให้ยาเป็นพิเศษก่อนผ่าตัด และควรใช้วิธีฉีดยาชาเข้าบริเวณหลังจะปลอดภัยกว่าการใส่ท่อดมยาสลบ
               ผื่นผิวหนังจากภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นต้นเหตุของโรค รวมไปถึงเสื้อผ้าที่ระคายผิว น้ำหอม เครื่องสำอางค์ต่างๆ อาจต้องทา moisturizers บ่อยๆ เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น ยาแก้แพ้เช่น chlorpheniramine , tripelennamine สามารถใช้ได้เท่าที่จำเป็น ยาทาสเตียรอยด์อย่างอ่อนๆก็สามารถใช้ได้เช่นกันค่ะ
               ผู้ป่วยที่แพ้ยา Penicillin สามารถใช้ยา Erythromycin แทนได้ระหว่างตั้งครรภ์ แต่ยาTetracyclin และ ยากลุ่ม Sulfa ห้ามใช้ค่ะ
               เพื่อให้การดูแลโรคภูมิแพ้ทุกโรคระหว่างตั้งครรภ์เป็นไปด้วยดี หมอนิตอยากจะเน้นว่า เรื่องที่สำคัญมากคือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรต่างๆทั้งจากดอกไม้ ดอกหญ้า ดอกของวัชพืช ,สปอร์จากเชื้อรา,ไรฝุ่น,แมลงสาบ,รังแคจากสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข, อาหารที่แพ้ ยาที่แพ้ ซึ่งจะกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ค่ะ ส่วนใครจะแพ้อะไร ทราบได้จากการทดสอบทางผิวหนังที่ควรทำไว้แล้วก่อนตั้งครรภ์ค่ะ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นี้สำคัญมากนะคะในการรักษาโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ เพราะเป็นการลดตัวสาเหตุของโรคลง จึงทำให้โรคสงบลงด้วย และยังทำให้ยาที่จำเป็นต้องใช้ควบคุมโรคลดลงไปด้วยค่ะ


               จากการติดตามคนไข้ภูมิแพ้ที่ตั้งครรภ์และอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับการรักษาคนไข้กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่แล้วผลออกมาจะเรียบร้อย ปลอดภัยทั้งแม่และลูกค่ะ


               ส่วนลูกที่เกิดมาจะเป็นภูมิแพ้แบบคุณแม่หรือไม่นั้น คำตอบคือมีโอกาสค่ะ ก็โรคนี้กรรมพันธุ์มีบทบาทสำคัญนี่คะ เราพบว่า ถ้าคุณแม่หรือคุณพ่อเป็นภูมิแพ้ข้างเดียว เด็กมีโอกาส ที่จะเป็นภูมิแพ้ 30-50%, ถ้าทั้งคุณแม่และคุณพ่อเป็นภูมิแพ้ โอกาสที่ลูกจะเป็นภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเป็น 50-70%, ในขณะที่เด็กซึ่งไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้เพียง 13%


               แม้ว่าปัจจุบันเรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัจจัยทางกรรมพันธุ์นี้ได้ แต่การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม, การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือเลือกชนิดของนมผงให้เหมาะสมในกรณีที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้, และการชลอเวลาเริ่มอาหารเสริมบางชนิดให้ช้ากว่าเด็กทั่วไป ซึ่งคุณหมอภูมิแพ้จะแนะนำคุณแม่ได้ ก็อาจผ่อนหนักเป็นเบาค่ะ

 
 

        

 
 

               สงวนลิขสิทธิ์ โดย

 
 

               พญ. สิรินันท์ บุญยะลีพรรณ และ ผศ.นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

 
 

         

 
 

         

 
 

Copyright©08  allergyasthmathailand.com all rights reserved

 
 

หน้าหลัก l คลินิก l โรคภูมิแพ้ l หนังสือ l ผลิตภัณฑ์ l แพทย์ l แผนที่