หน้าหลัก

     โรคภูมิแพ้

     หนังสือ     ผลิตภัณฑ์       แพทย์       แผนที่ Link

   www . allergyasthmathailand . com    
       
 

             

   
 

        

 
 

               ไอเรื้อรัง

 
 

      

 
 

               ในแต่ละปี มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มาพบกุมารแพทย์ด้วยเรื่องไอเรื้อรัง มีทั้งไอเป็นๆหายๆ และพวกไอไม่ยอมหาย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่จะวิตกกังวลมาก ว่าจะเป็นโรคอันตรายอะไรหรือเปล่า ทำไมไปหาหมอหลายครั้งแล้วไม่ยอมหาย ตัวเด็กเองก็แย่ ต้องขาดโรงเรียนบ่อยๆ อดดื่มน้ำเย็น อดรับประทานไอศกรีม เพราะถูกคุณพ่อ คุณแม่เข้มงวด เรียกว่าเดือดร้อนกันทั้งครอบครัว
               การไอ เป็นปฏิกิริยา ( reflex) ที่ร่างกายมีต่อ “สิ่งกระตุ้น” ต่างๆ ที่มากระตุ้นต่อ “ตัวรับรู้” (cough receptor) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่เยื่อบุในหลอดลม และมีส่วนน้อยอยู่ที่ ลำคอ, เยื่อบุโพรงอากาศรอบจมูก, กระเพาะอาหาร, และในช่องหูด้วย ทำให้บางครั้งการไอเรื้อรังอาจมาจากสาเหตุอื่น นอกเหนือจากเรื่องของปอดหรือหลอดลมก็ได้
               “สิ่งกระตุ้น” ที่ทำให้ไอได้แก่ เสมหะ, สารแปลกปลอมที่อาจสำลักเข้าไปในหลอดลม, ฝุ่นละออง , มลภาวะต่างๆ, ก๊าซพิษ, ควันบุหรี่ รวมถึงการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และการอักเสบจากปฏิกิริยาภูมิแพ้

 
 

      

 
 

               วิธีการกำจัดแมลงสาบ

 
 

               โรคที่มักพบว่าเป็นสาเหตุให้เด็กไอเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดคือ Reactive airways disease ซึ่งหมายถึงกลุ่มของโรคที่หลอดลมมีความไวมากผิดปกติ เช่น โรคหอบหืดจากภูมิแพ้ (atopic related asthma) , โรคหลอดลมอักเสบชนิดที่มีหลอดลมหดตัวด้วย (wheezy bronchitis, asthmatic bronchitis)
               ส่วนสาเหตุของการไอเรื้อรัง ที่พบรองๆลงไป ได้แก่ การที่มีสารคัดหลั่งไหลลงคอ เช่น ที่พบในกรณีของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และในโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง , การที่เด็กติดเชื้อหวัดบ่อยๆ, โรคหลอดลมอักเสบ, ไอจากการสำลักสิ่งแปลกปลอมลงไปในหลอดลม, การที่หูรูดกระเพาะอาหารไม่แข็งแรง ทำให้อาหารย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร ( gastro esoghageal reflux ) , โรคไอกรน, วัณโรค, การได้รับสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ , ความผิดปกติของหลอดลมที่มีมาแต่กำเนิด , การกระแอมหรือไอจนติดเป็นนิสัย เป็นต้น

 
 

      

 
 

               การวินิจฉัยโรคเพื่อหาสาเหตุของการไอเรื้อรัง

 
 

               เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยเรื่องไอนานกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะถือเป็นพวกไอเรื้อรัง สิ่งแรกที่แพทย์ทุกท่านต้องกระทำ คือ การซักประวัติอย่างละเอียด เพราะข้อมูลที่ได้จากประวัตินี้สำคัญต่อการวินิจฉัยโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการไอเรื้อรัง เช่น
               ถ้าไอเมื่อออกกำลังกาย น่าจะเป็นโรคหอบหืด เพราะการออกกำลังกายสามารถกระตุ้นให้หลอดลมหดตัวและเกิดอาการไอได้
               ถ้าไอร่วมกับแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด น่าจะเป็นโรคในกลุ่ม Reactive airways disease ซึ่งก็รวมโรคหอบหืดอยู่ในนี้ด้วยอีกเช่นกัน
               ถ้าไอมากกลางคืน นึกถึง โรคภูมิแพ้ (ซึ่งอาจเป็นจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ หอบหืดก็ได้อีกเหมือนกัน) และโรคไซนัสอักเสบ
ไอแบบมีเสมหะ น่าจะเกี่ยวกับหลอดลมอักเสบ ที่อาจเกิดจากเชื้อโรค หรือเกิดร่วมกับโรคหอบหืดก็ได้ครับ
               ถ้าไอติดกันเป็นชุดๆ นานเป็นสัปดาห์หรือเดือน และได้รับวัคซีนมาไม่ครบตามกำหนด น่าจะเป็นโรคไอกรน
               หากอาการไอสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร เช่น ระหว่างรับประทานอาหารก็มีอาการไอมากขึ้นมาทันที แบบนี้อาจเกิดจากการสำลักสิ่งแปลกปลอม(อาหาร) เป็นเหตุ
               ถ้าอาการไอกำเริบโดยสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับดินฟ้าอากาศ เช่น อากาศเย็นจะไอมากขึ้น หรือ ถ้ามีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด, จมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ลมพิษ แบบนี้ย่อมมีแนวโน้มไปในทิศทางของโรคภูมิแพ้ อันได้แก่ โรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
หรือถ้ามีอาการปวดหัว ปวดบริเวณไซนัสร่วมด้วย ไอเรื้อรังนี้ก็น่าจะมีสาเหตุมาจากไซนัสอักเสบเรื้อรัง
และถ้าคนรอบๆ ตัวเด็กสูบบุหรี่กันในบ้าน ก็ต้องนึกถึงว่าควันบุหรี่ อาจเป็นเหตุให้เด็กไอไม่หายได้เช่นกัน
               ส่วนการตรวจร่างกายจะสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้อีก แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของแพทย์ จึงไม่ขอกล่าวรายละเอียดตรงนี้ เพื่อคุณพ่อ คุณแม่จะได้ไม่ปวดหัว
               การตรวจทางห้องทดลองอาจจำเป็นในบางราย โดยแพทย์อาจให้ตรวจเสมหะ, ตรวจเลือด, เอกซเรย์ปอด, เอกซเรย์ไซนัส, ตรวจวัดสมรรถภาพการทำงานของปอดในเด็กโตที่พอพูดกันรู้เรื่อง, ตรวจทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์จะพิจารณาเห็นควรเป็นรายๆไป
เมื่อแพทย์ได้ข้อมูลทั้งจากประวัติ ตรวจร่างกาย และจากผลการตรวจต่างๆ มาประมวลเข้าด้วยกันแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะสามารถวินิจฉัยสาเหตุของการไอเรื้อรังได้ เมื่อลงมือรักษาโรคต้นเหตุดังกล่าว จะทำให้อาการไอเรื้อรังจบลงได้
               อีกเรื่องที่ควรทราบก็คือ บางครั้งอาการไอที่ตอนแรกๆดูไม่น่ากลัว แต่ต่อมา เป็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าบ่อยๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน หรือในกรณีเด็กที่เป็นโรคหอบหืด เวลาโรคสงบ เด็กอาจสบายดีจนดูเหมือนปกติ แต่เวลาไม่สบาย เช่น เป็นหวัด                               โรคหอบหืดอาจกำเริบรุนแรงจนกลายเป็นป่วยหนักก็ได้ การติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญ หากผู้ป่วยเปลี่ยนแพทย์บ่อยๆ จะทำให้ติดตามโรคได้ไม่ต่อเนื่อง ผลเสียจะตกอยู่แก่ลูกหลานของท่าน

 
 

      

 
 

               ผลแทรกซ้อนของการไอเรื้อรัง

 
 

               แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
               1.ผลแทรกซ้อนจากการไอโดยตรง เช่น ทำให้ปวดกล้ามเนื้อบริเวณชายโครงและหน้าท้อง ,มีเลือดออกจากลำคอปนมากับเสมหะ หรือในผู้ป่วยไอกรนซึ่งไอรุนแรงมาก อาจทำให้มีเลือดออกที่ตา และในเด็กเล็กๆอาจจะไอจนหยุดหายใจได้
               2. ผลแทรกซ้อนในกลุ่มที่สอง เกิดจากตัวโรคที่เป็นสาเหตุของการไอเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น ไอจากโรคหอบหืด แต่ซื้อยาแก้ไอรับประทานเอง ทำให้โรคหอบหืดไม่ได้รับการรักษา สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง เหนื่อยง่าย การเจริญเติบโตไม่ดี น้ำหนักตัวน้อยและเตี้ยได้ หรือถ้าไอจากวัณโรคแล้วไม่ได้รับการวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้อง อาจเสียชีวิตจากวัณโรคได้

 
 

      

 
 

               สงวนลิขสิทธิ์ โดย

 
 

               พญ. สิรินันท์ บุญยะลีพรรณ และ ผศ.นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

 
 

         

 
 

         

 
 

Copyright©08  allergyasthmathailand.com all rights reserved

 
 

หน้าหลัก l คลินิก l โรคภูมิแพ้ l หนังสือ l ผลิตภัณฑ์ l แพทย์ l แผนที่